วันนี้ครูจะมาพูดคุยในหัวข้อที่น่าสงสัยเป็นอันดับแรกๆ อีกหัวข้อหนึ่งก็คือ ทำไมครูต้องสอนเรียนตัวโน๊ต? เรียนเฉพาะเพลงที่อยากเล่นแล้ว จำการกดคีย์อย่างเดียว ไม่ได้หรือ? (เร็วดีนะ ได้เล่นเพลงที่ชอบเลยด้วย ไม่ต้องเรียนพื้นฐานก่อน)
ครูจะลองยกตัวอย่างแบบนี้ก่อนค่ะ : ปกติเวลาเราเรียนภาษาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เราจะไม่เรียนเพียงแค่บทสนทนาการพูดที่ท่องจำมาใช้เพียงอย่างเดียว แต่เราจะเรียนตัวอักษรของเขา เพื่อให้เราสามารถประกอบบทสนทนาเป็นประโยคได้ อ่านหนังสือหาความรู้เพิ่มได้ เป็นการเรียนที่เข้าใจจากแก่นแท้ของภาษานั้นจริงๆโดยเริ่มจากจุดที่เล็กที่สุด แต่สำคัญที่สุด ก็คือ “ตัวอักษร” นั่นเอง
เมื่อเราจำอักษรในภาษานั้นๆ ได้ เราก็จะสามารถเรียนรู้ต่อยอดเพิ่ม หรือนำไปประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ได้ทั้งหมดค่ะ
การยกตัวอย่างที่กล่าวมานี้เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจที่จะนำมาเปรียบเทียบว่า การเรียนเปียโน ก็เหมือนกับการเรียนภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่ง มันคือภาษาของโลกดนตรี ที่คนเล่นดนตรีทุกชนิดใช้สื่อสารกันผ่านตัวอักษรที่เรียกว่า ”ตัวโน๊ต“
การเรียนเปียโนแบบอ่านโน๊ต ถือว่าเป็นการเรียนเปียโนแบบยั่งยืน กล่าวคือ เราเรียนเปียโนจากพื้นฐานที่เล็กที่สุดของเพลง คือ โน๊ต กับ จังหวะ (เสาหลักของเพลง) เราจะเริ่มจำรากลึกนี้ให้ได้ก่อน และทำแบบฝึกหัดเพลงให้มากมายหลากหลายประเภทเพื่อเพิ่มพูนทักษะการเล่นยิ่งขึ้น ไปจนวันหนึ่ง ต่อให้เราไม่ได้เรียนกับครูแล้ว ก็ยังสามารถเล่นเปียโนเองในเพลงที่ชอบ หรือประกอบเพลงเองได้ นั่นคือ เราจะเล่นเปียโนได้ตลอดชีวิตค่ะ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ให้ผลในระยะยาว อาจจะช้ากว่าแบบท่องจำมาก แต่ในระยะยาวแล้ว จะเห็นผลของมันอย่างชัดเจนที่สุดค่ะ
การเรียนแบบท่องจำมาเล่นเพียง 1 บทเพลงที่ชอบ หากเป็นเพลงที่ยากมากๆ กว่าจะจำการกดคีย์ทั้งหมดได้ อาจจะท้อแท้ไปเสียก่อน หรือบางท่านอาจจะใช้เวลาถึง 1-2 ปี ในการเล่นเพลงๆเดียวจากการจำ ซึ่งทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาทักษะและการฝึกเพลงที่หลากหลายรูปแบบ และติดอยู่เพียงแค่ เพลงประเภทใดประเภทหนึ่งค่ะ
บางท่านเคยเรียนแบบไม่ค่อยได้อ่านโน๊ต อ่านเฉพาะช่วงแรกๆที่ต่อเพลงใหม่ (อ่านช้าเพราะไม่ค่อยได้เล่นแบบ interact กับตัวโน๊ตขณะกำลังเล่น) แต่พอจำการเล่นได้แล้ว ก็จะไม่อ่านโน๊ตอีกขณะเล่น ทำให้เวลาที่ได้ต่อเพลงใหม่ จะรู้สึกยาก ใช้เวลาในการเล่นเพลงๆหนึ่งให้ได้ นานมากเกินไป ก็จะรู้สึกว่าการเล่นเปียโนนั้นยากเกินไป หรือ ต่อยอดความรู้ต่อขั้นถัดไปไม่ได้ เพราะอยู่ในกรอบของความจำเดิมเท่านั้น สุดท้าย ก็ต้องมาปรับพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจ กันใหม่หมดเลยค่ะ
หรือบางท่านอาจจะอยากเรียนแค่จับคอร์ดง่ายๆ เพียงอย่างเดียว หมายถึง เราเป็นคนเล่นจังหวะประกอบ accompaniment ส่วนให้คนอื่นๆ ร้องแทน ก็ถือว่า เป็นทางลัดอีกทางหนึ่งที่ไม่ต้องอ่านโน๊ต อ่านแต่ชื่อคอร์ดแล้วกด เหมือนการจับคอร์ดกีต้าร์เล่นแล้วร้องเพลงคลอ แต่สุดท้ายแล้วการจำชื่อคอร์ด และการพลิกกลับคอร์ดทั้งหมดหลากหลายรูปแบบ ต้องอาศัยการเรียนตัวโน๊ตประกอบอยู่ดี เพื่อสร้างลูกเล่นให้กับ accompaniment ของเรา (เราคงไม่กดคอร์ดแช่เพียงอย่างเดึยวตลอดไป)
การเรียนเล่น accompaniment นั้น จะต้องรู้จักคีย์ต่างๆ ในเพลง ที่เรียกว่า Circle of Fifth ที่จำเป็นต้องรู้ เพราะ เวลาจับคอร์ดจะได้ทราบว่าต้องเล่นโน๊ตคีย์สีดำที่เป็น ชาร์ป หรือ แฟลต กี่ตัว ในคีย์นั้นๆ ทุกๆ อย่างย่อมกลับมาอิงอาศัยจุดที่เล็กที่สุดที่เป็นหัวใจของดนตรีก็คือ “ตัวโน๊ต“ นั่นเองค่ะ
การเรียนพื้นฐานจากอ่านโน๊ตและการฝึกทำ sightplay (เล่นโน๊ตเพลงใหม่ๆบ่อยๆ ในปริมาณที่เยอะ) และเรียนการเล่น accom ประกอบ จะยิ่งช่วยให้เราเข้าใจการเล่นดนตรีมากยิ่งขึ้น รวมไปถึง การประกอบเพลงเองได้ในภายภาคหน้า (ต่อให้ไม่มีครูก็ตาม) ตัวอย่าง สมมติว่าเราชอบเพลงๆหนึ่งมาก อยากเล่นเพลงนี้ ไปเสิชกูเกิ้ล เพลงมีแต่โน๊ตมือขวา และชื่อคอร์ดด้านบนตัวโน๊ต อย่างน้อยเราสามารถเล่นมือขวาเพราะอ่านโน๊ตเองได้ และใส่มือซ้ายง่ายๆ เองได้ ถ้าได้เรียนรู้หลักการอ่านตัวโน๊ตเป็นจุดเริ่มต้นค่ะ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ครูจึงค่อนข้างเน้นย้ำว่า การเริ่มเรียนเปียโนจากการอ่านโน๊ต จดจำตัวอักษร ลักษณะของโน๊ตประเภทต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นและที่สำคัญที่สุดในการเรียน มากกว่าการเรียนจากท่องจำการกดคีย์ หรือจำคอร์ดเพียงอย่างเดียวค่ะ
ครูเน้นสอนตั้งแต่พื้นฐานการเล่นเปียโนที่ดี การอ่านโน๊ต เทคนิคต่างๆ ในการเล่นเปียโนให้ไพเราะ สำหรับนักเรียนที่ต้องการสอบเกรด หรือนักเรียนที่ต้องการพัฒนาทักษะของตนเองผ่านการเล่นดนตรีในเวลาว่าง