ผลงานนักเรียน
ส่วนหนึ่งของผลงานนักเรียนที่แสดงความสามารถและเทคนิคการเล่นเปียโนผ่านบทเพลงประเภทต่างๆ
เพลง Passion Through Memory
ต้นกล้า อายุ 15 ปี
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ครูเกิดไอเดีย นึกครึ้มอกครึ้มใจอยากฟังเพลงแต่ง แบบแนวว่าเบื่อสอนเพลงตามโน๊ต ตามตำรา อยากแหวกชีวิต (ให้ครูและนร. เครียดกว่าเดิม) จึงคิดว่าใครดีหนอจะเป็นผู้โชคเลือด เอ้ย…โชคดีแจ๊คพอตในคราวนี้ ครูอยากลองให้แต่งเพลงยาวเต็มรูปแบบดูกันสักครั้ง
สรุปหวยออกที่ต้นกล้าค่ะ น้องเป็นเด็กชายอายุ 15 ปี เรียนดี แต่งเพลงคลาสสิคบ่อย จึงเป็นที่มาหัวข้อ “เรียนได้ดี จึงมีงานเพิ่ม” ในวันนี้
ต้นกล้าเรียนสายแต่งเพลงคลาสสิค และทำ improvisation เพลงมาโดยตลอดตั้งแต่เด็ก วันนี้ได้เบนเข็มมาทำเพลงป๊อบเต็มรูปแบบ แต่เป็นป๊อบบรรเลง (ไม่มีเนื้อร้อง) โดยครูให้แค่ชื่อคอร์ดภาษาอังกฤษ และโครงสร้างเพลงป๊อบไป ไม่ให้อะไรเลยอย่างอื่นเลย ว่างเปล่ามากจ้า (ครูใจร้ายมาก) มีแค่คำเดียวว่า “ต้นกล้าแต่งเมโลดี้ให้เป็นแนวป๊อบนะลูก ไม่เอาผีโมสาร์ทหรือบีโธเฟ่นมาปน” สรุปได้เป็นผลงานเพลงป๊อบจริงๆ เพราะมากๆ นึกว่า Yiruma ผสมกับเพลงประกอบ Studio Ghibli (ครูเลิฟ)
ครูภูมิใจในตัวหนูมากที่เรียนกันมาตั้งแต่ 4 ขวบ จนถึงทุกวันนี้ หนูมีพัฒนาการทางเปียโนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนศิลปินคนหนึ่งเข้าไปทุกที ถึงแม้การเรียนของเราทางมันจะขรุขระ เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขากันบ้างในบางช่วงของชีวิต แต่ในท้ายที่สุดบั้นปลายเราเจอความสวยงามนะ
”บทเพลง คือ สิ่งที่แสดงความรู้สึกของมนุษย์เราโดยไม่จำเป็นต้องเอื้อนเอ่ย“
ประโยคนี้ใช้ได้ตลอดกาล รวมทั้งเพลงแห่งความรักนี้ที่แต่งขึ้นโดยต้นกล้าด้วยค่ะ
แด่เธอ…จื่อจินซาน แอตลัส (Tsuchinshan Atlas) ดาวหางที่มาอยู่ใกล้เราเพียงชั่วพริบตา แล้วเธอก็จากไป ชั่วชีวิตหนึ่ง คนเราจะมีสักครั้งหนึ่งที่ได้พบเจอกับความรักที่ทำให้เรารู้สึกสว่างไสวเหมือนดาวหางที่สุขสว่างจ้าบนท้องฟ้า เมื่อมันจากไปพร้อมแสงที่ดับวูบของดวงดาว แต่ยังคงเหลือไว้ซึ่งความทรงจำ
เพลง All of Me – John Legend
น้องฮันน่า อายุ 10 ปี
วันนี้เราเปลี่ยนบรรยากาศ มาเรียนรู้เรื่องจังหวะ Accom สุดฮิตในยุคปัจจุบัน เป็นแนวเพลงจังหวะแบบอเมริกาใต้ (African-Cuban Music) แต่มีอิทธิพลต่ออเมริกาเหนือและยุโรปอย่างแพร่หลายมากในยุคนี้ คือจังหวะ Accom ประเภท “Tresillo” กันค่ะ
Tresillo เป็นจังหวะที่ฟังแล้วดูเหมือน เสียงกด accom ในรูปแบบ ยาว-ยาว-สั้น แตกออกมาจากจังหวะเพลงแนวแอฟริกัน-คิวบัน ต้นกำเนิดอีกที เพลงที่ใช้จังหวะมือซ้าย accom แนวนี้มีหลายเพลงดังๆ เลยค่ะ ตัวอย่างเช่น Shape of You – Ed Sheeran, Don’t Let Me Down – The Chainsmokers, Rockabye – Clean Bandit, Treat You Better – Shawn Mendes
และอีกหนึ่งเพลงดังที่เป็นตัวอย่างในวันนี้ คือเพลง All of Me ของ John Legend ค่ะ
น้อง Hannah ถ่ายทอดบทเพลงแห่งความรักของ John ที่เขียนให้แก่ภรรยาลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์อันเป็นที่รัก เป็นตัวโน๊ตและคำพูดเนื้อเพลงที่แสนอ่อนหวาน เต็มไปด้วยความโรแมนติค โดยใช้จังหวะเพลงแบบ Tresillo มาประกอบ ทำให้เพลงดูสดใสและมีความสุข เหมือนมีความสุขใจในความรักที่มีต่อภรรยา โดยใน Music Video John เป็นคนร้องเพลงและเล่นเปียโนด้วยตัวเองค่ะ
Hannah ฝึกซ้อมเล่นเพลงนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นบทเพลงที่คุณพ่อน้องชอบค่ะ (ฮันน่าแอบบอกคุณครูตอนเลือกเพลงเล่นกันตอนแรก) น้องตั้งใจซ้อมเพลงนี้มาก กว่าจะจับจังหวะ Tresillo มือซ้ายมารวมกับมือขวาได้ ก็มึนส์พะย่ะค่ะ ใช้เวลา 2-3 อาทิตย์เลย (มันยากจริงๆ สำหรับเด็กๆ) แล้ว Hannah ยังทำ dynamics แต่ละท่อนที่ไม่เหมือนกันเพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ความรัก (ความวูบวาบในใจ) ได้เก่งมากๆ อีกด้วยค่ะ เพลงเพราะขึ้นมากๆ เพราะ Dynamics ของ Hannah เลยค่ะ
เพลง At Last (From “Sun Valley Serenade”)
คุณวิท อายุ 40 ปี
เพลง “At Last” เป็นบทเพลงประกอบ Musical Film ของอเมริกาเรื่อง “Sun Valley Serenade” แต่งโดย Mack Gordon และ Harry Warren (ปี 1941) และเป็นเพลงฮิตติดอันดับ 2 ใน Billboard Chart ณ สมัยนั้น
คุณวิท เป็นนักเรียนผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เริ่มเรียนเปียโนกับครูมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เราเริ่มเรียนกันจากโน๊ตตัวแรก สู่เพลงประเภท Blue Jazz (ขึ้นขั้น intermediate) ในวันนี้ ครูปลื้มใจในความก้าวหน้าของคุณวิทมากค่ะ
ด้วยความที่เพลงประเภท Blues เป็นเพลงจังหวะ swing ที่นอกจากจะต้องแม่นโน๊ตแล้ว จะต้องแม่นจังหวะ swing ของโน๊ตแต่ละตัวมากๆ คุณวิทไม่เคยเล่นจังหวะเพลงแนวแจ๊สมาก่อน ตอนฝึกก็มึนจังหวะกันไปหลายอาทิตย์เลยทีเดียว ไหนจะมือขวามีการเล่นแยกโน๊ตประสานเสียงและโน๊ตเมโลดี้ (รวมร่างในมือเดียว) ให้ปวดขมับเพิ่มและ Pedal เท้าที่ยึกยือ เหยียบยาก (โอ้ย ครูสงสาร) แต่คุณวิทก็ทำออกมาได้สวยงามและสมบูรณ์ในความเป็น Jazz ได้ดีในท้ายที่สุดค่ะ (ครูปลื้ม) คุณวิทพยายามอย่างไม่ย่อท้อจริงๆ ยอมใจในความพากเพียรมากๆเลยค่ะ
เพลง Somewhere Over the Rainbow
คุณมัท อายุ 33 ปี
เพลงนี้เป็นหนึ่งในบทเรียนที่แนบอยู่ในตำราแบบฝึกหัดสำหรับผู้เริ่มเรียนขั้น intermediate (ขั้นกลาง)
ครูให้คุณมัทเริ่มฝึกเกี่ยวกับการแยกระบบ dynamics มือขวา ทำดัง-เบาแยก melody line (top note) กับเบสประสาน (note ต่ำกว่า) ซึ่งคุณมัทใช้เวลาฝึกอยู่ประมาณหนึ่ง พยายามกันอยู่หลายยกทีเดียว แต่คุณมัทไม่ย่อท้อเลยค่ะ (น่ารักมาก) ในที่สุด ตอนนี้คุณมัทเล่นแยกระบบทำนองประสาน (ในมือเดียว) ได้ชัดเจนและเด่นมาก ทำให้เพลงมีวอลลุ่ม มีมิติมากขึ้นเยอะเลยค่ะ
และนอกจากเทคนิคดังเบาแล้ว วิธีการกดคีย์เปียโนที่นุ่มนวล (ไม่ว่าจะดังหรือเบา) ก็ทำให้บทเพลงดูอ่อนหวาน ไพเราะมากขึ้น เหมาะกับการฟังเพื่อผ่อนคลายหรือเพื่อเป็นการสร้างความหวังเล็กๆ ในใจ สำหรับผู้ที่รับฟังเช่นกันค่ะ
ไม่ว่าทุกคนจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไร ขอให้เรามีความหวัง ในทุกๆ เรื่องที่ทำ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ตนเองในโลกที่ยุ่งยากใบนี้นะคะ
เพลง เก้าแต้ม
น้องอันนา อายุ 7 ปี
ครูเลือกเพลงนี้ให้อันนาเล่นเพราะอยากให้อันนาฝึกเรื่องการเล่นดัง-เบา (Dynamics) ที่เฉียบคมมากขึ้น
การบรรเลงเพลงที่ดีและไพเราะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่อ่านโน๊ตและกดคีย์เปียโน แต่จะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวผ่านปลายนิ้วของเราได้ โดย Dynamics เป็นส่วนสำคัญที่ขาดไปไม่ได้เลยในการสร้างสีสันให้แก่เพลง
เพลงนี้อันนาฝึกเล่นระหว่าง F (ดัง) กับ P (เบา) สลับกันไปมา และเล่นเครื่องหมาย crescendo เกือบทุกห้อง เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพถึงท่าทางของเจ้าแมวเก้าแต้มที่อยู่บนหลังคาและพยายามย่องๆ จะกระโดดไปที่ต้นไม้ค่ะ ซึ่งอันนาสามารถทำดัง-เบาได้ชัดเจนดีมาก (ต้องควบคุมกล้ามเนื้อนิ้วกันเมื่อยเลยทีเดียว) หรือแม้กระทั่งเสียงกระแทกของเครื่องหมาย accent note เพื่อแสดงออกว่าแมวกระโดดลงกิ่งไม้ดังตุ๊บค่ะ
เพลง Sonatina Op.1 No.1
น้องฮันน่า อายุ 10 ปี
เพลง Santa Claus Is Coming to Town
คุณมัท อายุ 33 ปี
เพลง Jingle Bells
น้องนัทจัง อายุ 20 ปี
เพลง Lovin’ You
น้องอันนา อายุ 7 ปี
น้องอันนา request อยากเล่นเพลงนี้ซึ่งถือเป็นเพลงจังหวะยากสำหรับ beginner (เพลงอยู่ขั้น intermediate) โดยคอร์ดมือซ้ายเป็นคอร์ด Minor/Major 7 ทั้งหมด แต่อันนาสามารถกางนิ้วกดคอร์ดได้ครบทั้ง 4 ตัวพร้อมกัน (เจ้านิ้วเล็กจิ๋วของครูมีความพยายาม และเก่งมาก) และจังหวะ R&B มือขวาที่เล่นค่อนข้างยาก เพราะเป็น syncopated note แต่อันนาก็ฝึกซ้อมจนสามารถทำออกมาได้ดีเลยค่ะ
เพลง ชะตาชีวิต
น้องลาเต้ อายุ 13 ปี
บทเพลง ชะตาชีวิต เป็นบทประพันธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซี่งเป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองประเภท Blues (jazz) เนื่องด้วยพระองค์ทรงชอบฟังเพลงประเภทนี้ ลักษณะท่วงทำนองเมโลดี้ที่เป็น Blues scales จึงชัดเจนในทุกๆ ประโยค ทรงแต่งท่วงทำนองด้วยพระองค์เอง และทรงโปรดเกล้าให้ประพันธ์คำร้องขึ้นในภายหลัง
น้องลาเต้เล่นเพลงจังหวะสวิงของความเป็น Blues ได้ดี (หรือเรียกง่ายๆว่า jazz เนิบๆ) บวกกับการเล่นเมโลดี้ประสานคอร์ดในมือขวา ที่มีเมโลดี้หลักเด่น และเบส Scales blues ในมือซ้าย ทำให้บทเพลงนี้สมบูรณ์ทุกแนวดนตรี เหมาะกับเด็กๆ ที่กำลังเรียนเปียโนอยู่ในระดับ Intermediate ค่ะ
เพลง Lights in the Rearview
น้องมิวสิค อายุ 14 ปี
บทเพลงของ Ben Crosland เพลงนี้ มีความเป็น Pop Rock สูงมาก สังเกตได้จากมือซ้ายของเพลงเป็นกลุ่ม Cluster Chord ที่มีจังหวะคงที่ (เหมือนรถยนต์ที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ) ซึ่งใช้ในเพลง Pop Rock บ่อยๆ ใช้สำหรับผู้เรียนเปียโนที่กำลังฝึกหัดขั้นกลาง และโน๊ตเมโลดี้มือขวาใช้เลียนเสียง lead กีต้าร์ หรือเสียงร้องของนักร้องก็ได้ มีลักษณะการเน้นที่จังหวะขัด (Syncopate Rhythm) ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความเป็น Rock มากขึ้น
การควบคุมน้ำหนักมือของน้องมิวสิค คือ สามารถเล่นเมโลดี้ที่โดดเด่นได้ เป็นจังหวะเน้นและขัดกับมือซ้าย ในขณะที่ต้องควบคุม Cluster Chord มือซ้ายให้คงที่และให้เบาบางอยู่ใน Background ด้านหลังซึ่งน้องสามารถควบคุมน้ำหนักมือได้ดีเลยค่ะ
เพลง Struttin’ at the Waldorf
น้องภูผา อายุ 13 ปี
เพลงนี้เป็นบทเพลงสอบของ Trinity College London Grade 7 มีจังหวะเพลงที่เด่นชั้นในเรื่องความเป็น American Jazz เนื่องจากผู้ประพันธ์ Phillip Lane มีความสนใจทางด้านละครเวทีเป็นพิเศษ บทเพลงที่ประพันธ์จึงมีกลิ่นอายของดนตรีประกอบละครเวทีเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ น้องภูผาสามารถสื่อจังหวะของมือซ้ายที่มีความ swagger (มาด) ได้ดี และเมโลดี้ Top Line โดดเด่น ผสมคอร์ดในมือขวาที่ไหลเลื่อนในแบบฉบับเพลงประกอบการเต้นในละครเวทีโดยเฉพาะ ทำให้เพลงนี้ฟังแล้วเหมือนเราอยู่ที่ โรงละคร Broadway ใน New York
เพลง Harry Potter Hedwig’s Theme
น้องลาเต้ อายุ 13 ปี
บทเพลงนี้ครูใช้เป็นเพลงประกอบนอกเวลาสำหรับเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ที่เรียนในระดับ intermediate ขึ้นไป เพื่อให้เรียนรู้บทเพลงที่นอกเหนือจากแบบฝึกหัด หรือเพลงคลาสสิคทั่วไปค่ะ การเรียนเพลงข้างนอกหรือเพลงป๊อบ จะมีทั้งแบบพื้นฐานง่ายๆ จนไปถึงแบบยาก แต่ส่วนใหญ่เพลงข้างนอกจังหวะของโน๊ตจะเป็นเขบ็ด 1 หรือ 2 ชั้น จึงไม่ง่ายที่จะเล่น ระดับเพลงส่วนใหญ่ทั่วไปจริงๆ จะอยู่ที่ขั้น intermediate
เพลง Hedwig’s Theme นี้ น้องลาเต้เล่นประกอบด้วย 2 part ในเพลง ; part 1 อัตราจังหวะจะถูกแบ่งเป็น ฐาน 8 หรืออัตราจังหวะ compound time คือ main beat มี 3 จังหวะย่อย ส่วนใหญ่จะพบในเพลงคลาสสิค และ part 2 อัตราจังหวะเป็นฐาน 4 หรือ simple time คือ main beat มี 1 จังหวะย่อย เรียกอัตราจังหวะสามัญ ซึ่งพบได้ในเพลงป๊อบทั่วไป
เพลง Can’t Help Falling in Love
น้องฮันน่า อายุ 8 ปี
โน๊ตเพลงนี้ที่น้องฮันน่าเล่น มีเพียงโน๊ตมือขวา และชื่อคอร์ดมือซ้ายเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ฮันน่าได้ใส่คอร์ดมือซ้ายเป็นลักษณะการเล่น broken chord ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับเพลงไทยเดิม ไทยสากล หรือเพลงสากล Acoustic ทั่วไปได้ค่ะ
เพลง ลาวดวงเดือน
น้องอันนา อายุ 6 ปี
อันนาสามารถถ่ายทอดบทเพลงออกมาด้วยเทคนิคการเล่น line melody ที่ชัดเจน ประกอบทำนองมือซ้ายที่ไม่เด่นจนเกินไป เพลงนี้เป็นตัวแทนความรักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมที่มีต่อ ธิดาแห่งเจ้าราชสัมพันธวงศ์แห่งนครเชียงใหม่ค่ะ
เพลง Prelude and Fugue in E major
น้องเฌอแตม อายุ 15 ปี
เพลง The Cascades
น้องนัทจัง อายุ 20 ปี
The Cascades เป็นเพลงประเภท Rag Time ในยุคสมัยใหม่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับลักษณะเพลง March แต่มีจังหวะแบบ syncopation และใช้โน๊ตคู่ octave มาก หากพูดถึงเพลง Rag ที่คนส่วนใหญ่รู้จักและโด่งดัง คือเพลง The Entertainer ซึ่งแต่งโดย Scott Joplin แต่บทเพลงนี้แต่งขึ้นโดยมีแรงบันดาลใจจากการที่ Scott ได้ไปงานนิทรรศการ The World’s Fair ที่เมือง St. Louis ในสหรัฐอเมริกา แล้วเห็นน้ำตกในนิทรรศการที่มีความสวยงามมาก เกิดความประทับใจ เมื่อกลับมาจึงได้ประพันธ์เพลงนี้ขึ้น
เพลง Got those Blues!
น้องถั่วพู อายุ 12 ปี
เพลง Blues เป็นประเภทหนึ่งซึ่งแยกออกมาจากเพลง Jazz ซึ่งถือว่าเป็นมรดกการพัฒนาการทางดนตรีของอเมริกันในยุคหลังสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861-1865) เพลง Got those Blues! จะมีโครงสร้างคอร์ดแบบเพลง Jazz เพลงนี้ เราสามารถเรียนรู้โครงสร้างทางเดินคอร์ด (Chord Progression) เบื้องต้นเพื่อประยุกต์ใช้ในเพลง Blues อื่นๆ อีกมากมาย
เพลง Prayer of the Matador
น้องพุทธ อายุ 17 ปี
เพลงนี้เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในช่วงยุคดนตรีร่วมสมัย (Contemporary/Modern Age) ถึงแม้บทเพลงจะมีกลิ่นอายและสไตล์ที่มีความเป็นสเปนสูงแต่บทเพลงนี้ถูกแต่งโดยนักดนตรีชาวอเมริกันคือ Dello Joio จังหวะสวิงของมือซ้ายที่เป็นเอกลักษณ์ในเพลงมีความคล้ายคลึงกับจังหวะการเต้นรำแบบ Tango และจังหวะการกดแช่คอร์ดมือขวาในช่วงกลางเพลงเป็นการเลียนเสียงของการจับคอร์ดกีต้าร์สเปน
เพลง Happy Birthday
น้องอันนา อายุ 6 ปี
น้องอันนาสามารถเล่นโน๊ตเพลงที่มีเพียงแค่โน๊ตมือขวากับชื่อคอร์ด และสามารถที่จะใส่ Accompaniment มือซ้ายจากการดูชื่อคอร์ด ซึ่งเป็นพื้นฐานของนักดนตรีที่เล่นเพลงป๊อปและเพลงร่วมสมัยที่สามารถเล่นเพลงได้แม้มีโน๊ตเพียงแค่มือเดียวกับชื่อคอร์ดค่ะ
เพลง The Benevolent Cuckoo
น้องฮันน่า อายุ 8 ปี
The Benevolent Cuckoo ถูกประพันธ์ขึ้นในยุคบาโรค ยุคแรกของกำเนิดเครื่องดนตรีประเภทคีย์บอร์ด โดย Francois Couperin ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส เพลงนี้แต่งขึ้นจากการเลียนเสียงร้องเรียกที่เป็นเสียงสะท้อนไปมาของนกกาเหว่า (cuckoo) ที่ร้องกุ๊กกู กุ๊กกู เพลงนี้ใช้เป็นบทเพลงในการสอบของสถาบัน Trinity college London ในระดับ Grade 3 ค่ะ
Ready to explore
your music
ครูเน้นสอนตั้งแต่พื้นฐานการเล่นเปียโนที่ดี การอ่านโน๊ต เทคนิคต่างๆ ในการเล่นเปียโนให้ไพเราะ สำหรับนักเรียนที่ต้องการสอบเกรด หรือนักเรียนที่ต้องการพัฒนาทักษะของตนเองผ่านการเล่นดนตรีในเวลาว่าง